การพัฒนาสมรรถนะในการผลิตและการใช้ประโยชน์จาก หนังสืออิเล็กทรอนิกส์โดยใช้เครือข่ายการวิจัยการศึกษา ของครูในจังหวัดฉะเชิงเทรา
A development of producing and using electronic book competency using education research network of teacher in Chachengsao

: ชื่อผู้วิจัย นายบุญรัตน์ แผลงศร
: ตำแหน่ง อาจารย์
: เทคโนโลยีการศึกษา
: ปี 2555
: 4348

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาสมรรถนะในการผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของครูในจังหวัดฉะเชิงเทรา และ (2) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของครูในจังหวัดฉะเชิงเทราโดยใช้เครือข่ายวิจัยการศึกษา การวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 5 ระยะ ระยะเริ่มต้น เป็นการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โดยการวิจัยเอกสาร ประกอบด้วย ตำรา บทความวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาองค์ประกอบและกระบวนการออกแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเรียนการสอน โดยการสัมภาษณ์ ผู้ให้สัมภาษณ์ คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาสมรรถนะในการออกแบบและผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของครูในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้กับครูในจังหวัดฉะเชิงเทราจำนวน 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) แบบประเมินการออกแบบและผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับครู และ 2) แบบประเมินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์สถิติบรรยาย ระยะที่ 3 เป็นการศึกษาการนำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยการสัมภาษณ์ ผู้ให้สัมภาษณ์ คือ ครูผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการจำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา ระยะที่ 4 เป็นการนำเสนอผลการใช้ประโยชน์จากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายการวิจัยการศึกษาของครูในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยการสัมภาษณ์ ผู้ให้สัมภาษณ์ คือ ครูผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการจำนวน 6 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ผลการศึกษาองค์ประกอบของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ มี 3 องค์ประกอบ คือ โครงสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ มัลติมีเดีย และการเชื่อมโยงหลายมิติ สำหรับกระบวนการออกแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษา แบ่งออกเป็น 11 ขั้นตอน คือ 1) วิเคราะห์เป้าหมายของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 2) วิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน 3) กำหนดวัตถุประสงค์ 4) กำหนดเนื้อหา 5) ออกแบบการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน 6) ออกแบบและสร้างกิจกรรมหรือแบบฝึกหัดเพื่อสร้างความมั่นใจ 7) ออกแบบการเชื่อมโยงหลายมิติ 8) เขียนสคริปต์และจัดทำสตอรี่บอร์ด 9) ตรวจสอบความตรงของสตอรี่บอร์ดโดยผู้เชี่ยวชาญ 10) สร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และ 11) ประเมินผลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

2. ผลการประเมินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบและผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับครู ในภาพรวม ผู้เข้าอบรมมีความพึงพอใจในการอบรมระดับมากที่สุด

3. ผลการนำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน พบว่า เป็นประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ คือ ช่วงเวลาที่ใช้ในการผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ความพร้อมของทรัพยากรในโรงเรียน และเครือข่ายครูที่ผลิตและใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สำหรับประเด็นผลลัพธ์ของการนำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไปประยุกต์ใช้การจัดการเรียนการสอน คือ ความสนใจของผู้เรียน

4. ผลการใช้ประโยชน์จากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายการวิจัยการศึกษาของครูในจังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า ลักษณะของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียงพูด เพลง วิดีโอ ลิงค์ไปยังเว็บไซต์เนื้อหา และ การประยุกต์ใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในเนื้อหา มีความสนุกในการเรียน และมีความกระตือรือร้นในการเรียน

`

การพัฒนาสมรรถนะในการผลิตและการใช้ประโยชน์จาก หนังสืออิเล็กทรอนิกส์โดยใช้เครือข่ายการวิจัยการศึกษา ของครูในจังหวัดฉะเชิงเทราA development of producing and using electronic book competency using education research network of teacher in Chachengsao is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.