รายงานการวิจัย ความทั่วถึงและเท่าเทียมของการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

: ชื่อผู้วิจัย รศ.ดร.กุญชรี ค้าขาย
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: นโยบายการศึกษา
: ปี 2560
: 15177

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

เพื่อการพัฒนาสถานศึกษาแบบเรียนรวมซึ่งยึดหลักการของการจัดการศึกษาสำหรับความทั่วถึงและเท่าเทียมของประเทศไทย จุดเริ่มของงานวิจัยเรื่องนี้จึงเป็นการทบทวนสถานศึกษาแบบเรียนรวมของประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพสูงระดับโลก อันได้แก่ ประเทศแคนาดา เดนมาร์ก เอสโตเนีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ฮ่องกงและมาเก๊า) โดยมีคำถามสำคัญว่ามีกระบวนการดำเนินงานอย่างไร เมื่อนำเอาฐานคิดของสังคม แนวนำทางของกระแสโลก และความรู้เรื่องการจัดสถานศึกษาแบบเรียนรวมเข้ามาปรับใช้แล้ว พบว่า แคนาดา เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฮ่องกง และมาเก๊า รับรู้และเชื่อมั่นว่าสถานศึกษาแบบเรียนรวมเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสังคมพหุเชื้อชาติ เป็นกลไลการขับเคลื่อนสำหรับการสร้างและรักษาลักษณะร่วมทางสังคมที่ก่อให้เกิดความทั่วถึงและเท่าเทียมของการจัดการเรียนรวม ส่วนประเทศไทยนั้นแม้จะมิได้ย้ำเน้นเรื่องการเป็นพหุเชื้อชาติ แต่ที่ตรงกัน คือ มุ่งไปยังการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ขยายศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้สามารถอยู่ร่วมกันระหว่างคนที่อยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดี เป็นความคาดหวังของประเทศที่นำเอาความหลากหลายด้านภูมิหลังและประสบการณ์ของบุคคลมาใช้ให้เกิดคุณค่า จุดเด่นของทุกประเทศคือ ใช้กลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะนักเรียนที่มีความต้องการแตกต่างแทนการใช้แนวคิดเชิงสงเคราะห์ แต่ก็ยังปรากฎในเอสโตเนียและประเทศไทยที่ให้น้ำหนักกับกลยุทธ์การชดเชยความบกพร่องด้านต่างๆ ควบคู่กันไปอย่างชัดเจน จุดเด่นของประเทศไทย คือ มีกฎหมาย แผน และนโยบายที่เป็นแนวทางการดำเนินงานในอนาคต โดยแผนการศึกษาแห่งชาติมีระยะเวลา 20 ปี ส่วนแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 มีระยะเวลา 5 ปี เท่ากับระยะเวลาของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5

ในเรื่องของกระบวนการแปรนโยบายสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาแตกต่างกัน ตรงที่แคนาดา เดนมาร์ก และเอสโตเนีย กำหนดกรอบนโยบายจากส่วนกลาง แต่วิธีปฏิบัติให้อิสระกับท้องถิ่น โดยมีข้อแม้เรื่องคุณภาพต้องอยู่ในระดับสูง ขณะที่ฮ่องกง มาเก๊า และไทย มีหน่วยงานที่รับทอดการกำกับดูแลมาจากหน่วยงานกลางจนถึงระดับท้องถิ่น โดยที่ไทยมีหน่วยงานดูแล 2 ระดับก่อนที่จะลงถึงสถานศึกษาที่เป็นหน่วยปฏิบัติ

สำหรับปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จของการเป็นสถานศึกษาแบบเรียนรวม ได้แก่ (1) บทบาทของผู้บริหารในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและการกระจายภาวะผู้นำ (2) การเลือกนักเรียนเข้าเรียนแบบทั่วถึงและเท่าเทียม (3) กลยุทธ์การจัดการชั้นเรียนรวมแบบเปิดโอกาสการพัฒนาทักษะหลากหลาย (4) กลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น (5) ครู (6) ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ส่วนอุปสรรคของการทำงาน พบว่า มาจากด้าน (1) งบประมาณไม่เพียงพอ (2) เจตคติเชิงลบของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (3) สถิติ ข้อมูล และงานวิจัยขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล (4) นโยบายและวิธีปฏิบัติ (5) การผลิตและพัฒนาครู (6) บริการเพื่อตอบสนองความแตกต่างยังมีคุณภาพไม่เพียงพอ

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายจำแนกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับแรก นโยบายระดับชาติ : ก้าวไปข้างหน้า ภายในปี พ.ศ. 2573 ประชาชนมั่นใจได้ว่าเด็กและเยาวชนไทยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเต็มตามศักยภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพแข่งขันได้ในระดับโลก ระดับที่สอง นโยบายระดับท้องถิ่น : ขับเคลื่อนอย่างมั่นคง ให้มีการแปลงรูปสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกระแสหลักให้เป็นสถานศึกษาแบบเรียนรวมที่เน้นความทั่วถึงและเท่าเทียมเต็มรูปแบบ ระดับที่สาม นโยบายระดับสถานศึกษา : ทั่วถึงและเท่าเทียมเต็มรูปแบบ โดยเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษที่แตกต่างได้บรรลุศักยภาพสูงสุดแห่งตนในสถานศึกษาเช่นเดียวกับเด็กปกติในชุมชนใกล้บ้าน และเป็นการนำเอาสิ่งสนับสนุนจากชุมชนเข้ามาในสถานศึกษาเพื่อประโยชน์กับนักเรียนทุกคน

`

รายงานการวิจัย ความทั่วถึงและเท่าเทียมของการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.