การพัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพความเป็นพ่อแม่ : การวิเคราะห์คุณสมบัติทางจิตมิติโดยใช้เอสอีเอ็มกลุ่มพหุ
DEVELOPMENT OF PARENTING QUALITY INDICATORS: AN ANALYSIS OF PSYCHOMETRIC PROPERTIES USING MULTIGROUP SEM

: ชื่อผู้วิจัย นางสาวพนิดา มารุ่งเรือง
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อื่นๆ
: ปี 2556
: 2228

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 5 ประการคือ 1) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณสมบัติทางจิตมิติของตัวบ่งชี้คุณภาพความเป็นพ่อแม่ด้านความตรง ความเป็นปรนัย ความเป็นไปได้ ความยาก อำนาจจำแนก และความเที่ยง 2) เพื่อทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลตัวบ่งชี้คุณภาพความเป็นพ่อแม่ตามสถานภาพการเป็นพ่อแม่ ระดับชั้นเรียนของลูก และเศรษฐานะของครอบครัว 3) เพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้รวมคุณภาพความเป็นพ่อแม่ 4) เพื่อสำรวจคุณภาพความเป็นพ่อแม่ในสังคมไทยจากตัวบ่งชี้รวมที่พัฒนาขึ้น และ 5) เพื่อพัฒนาดัชนีคุณภาพความเป็นพ่อแม่ ตัวอย่างในการวิจัยคือพ่อแม่ของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ จำนวน 3,122 คน ได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือวิจัยเป็นแบบสอบถามคุณภาพความเป็นพ่อแม่ จำนวน 90 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์ด้วยสถิติบรรยาย การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ การวิเคราะห์ t-test และ MANOVA การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันและการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างกลุ่มพหุด้วยโปรแกรมลิสเรล การวิเคราะห์ Graded-Response Model ด้วยโปรแกรม MULTILOG การวิเคราะห์การทำหน้าที่ต่างกันของข้อคำถามโดยวิธี polytomous-SIBTEST การวิเคราะห์เนื้อหา การวิเคราะห์ความไม่แน่นอนและความไวของตัวบ่งชี้รวม และการกำหนดเกณฑ์ปกติวิสัยของตัวบ่งชี้รวมคุณภาพความเป็นพ่อแม่โดยแปลงคะแนนตัวบ่งชี้รวมให้อยู่ในรูปเปอร์เซ็นต์ไทล์ (percentile) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. ตัวบ่งชี้คุณภาพความเป็นพ่อแม่มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 การมีส่วนร่วมของพ่อแม่ มี 3 ตัวบ่งชี้คือ การมีส่วนร่วมที่บ้าน การมีส่วนร่วมที่โรงเรียน และการสื่อสารระหว่างบ้านกับโรงเรียน องค์ประกอบที่ 2 ความยึดมั่นผูกพันกับการเป็นพ่อแม่ มี 3 ตัวบ่งชี้คือ การให้ความรักและความไวในการตอบสนอง การให้อิสระในการปกครองตนเอง และการเรียนรู้ร่วมกับลูกอย่างกระตือรือร้น องค์ประกอบที่ 3 ศักยภาพความเป็นพ่อแม่ มี 6 ตัวบ่งชี้คือ การดูแลขั้นพื้นฐาน การดูแลด้านความปลอดภัย การให้ความอบอุ่น การส่งเสริมการเรียนรู้ การให้คำแนะนำและเป็นแบบอย่างที่ดี และการให้ความมั่นคงทางจิตใจ ผลการวิเคราะห์คุณสมบัติทางจิตมิติของตัวบ่งชี้คุณภาพความเป็นพ่อแม่พบว่ามีความตรงตามเนื้อหา (ค่าดัชนี IOC ระหว่าง 0.57-1.00) มีความเป็นปรนัย มีความเป็นไปได้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีค่าความยากและอำนาจจำแนกเหมาะสม มีค่าความเที่ยงสูง ( = 0.752 – 0.905) มีความตรงเชิงโครงสร้าง (2 = 34.343, df = 24, p = 0.079, GFI = 0.998, AGFI = 0.994, RMR = 0.002, RMSEA = 0.011) มีความตรงเชิงจำแนก และพบการทำหน้าที่ต่างกันของข้อคำถามตามตัวแปรระดับชั้นเรียนของลูก 53 ข้อ เศรษฐานะของครอบครัว 38 ข้อ และสถานภาพการเป็นพ่อแม่ 19 ข้อ โดยมีค่าดัชนีการทำหน้าที่ต่างกันของข้อคำถาม (β ̂^*) อยู่ระหว่าง -0.142 ถึง 0.099

2. ผลการทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลตัวบ่งชี้คุณภาพความเป็นพ่อแม่ตามสถานภาพการเป็นพ่อแม่ ระดับชั้นเรียนของลูก และเศรษฐานะของครอบครัว พบว่าโมเดลตัวบ่งชี้คุณภาพความเป็นพ่อแม่มีรูปแบบโมเดลและสถานะของพารามิเตอร์ในเมทริกซ์ LY ไม่แปรเปลี่ยนระหว่างสถานภาพการเป็นพ่อแม่และเศรษฐานะของครอบครัว แต่เมื่อพิจารณาตามตัวแปรระดับชั้นเรียนของลูกพบว่าโมเดลตัวบ่งชี้คุณภาพความเป็นพ่อแม่มีรูปแบบโมเดลไม่แปรเปลี่ยน แต่มีสถานะของพารามิเตอร์ในเมทริกซ์ LY แปรเปลี่ยนระหว่างระดับชั้นเรียนของลูก

3. โมเดลที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาตัวบ่งชี้รวมคุณภาพความเป็นพ่อแม่คือการแทนค่าข้อมูลสูญหายด้วยค่าเฉลี่ย การกำหนดค่าน้ำหนักตัวบ่งชี้ย่อยโดยใช้ค่าน้ำหนักที่ได้จากการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน และการรวมคะแนนตัวบ่งชี้รวมด้วยโมเดลผลบวก

4. ผลการสำรวจคุณภาพความเป็นพ่อแม่ในสังคมไทยพบว่าพ่อแม่มีคุณภาพความเป็นพ่อแม่อยู่ในระดับปานกลาง มีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพความเป็นพ่อแม่ตามตัวบ่งชี้รวมที่พัฒนาขึ้นเท่ากับ 7.98 คะแนน โดยแม่มีคุณภาพความเป็นพ่อแม่สูงกว่าพ่อ พ่อแม่ที่มีเศรษฐานะของครอบครัวสูงมีคุณภาพความเป็นพ่อแม่สูงกว่าพ่อแม่ที่มีเศรษฐานะของครอบครัวต่ำ และพ่อแม่ของนักเรียนระดับประถมศึกษามีคุณภาพความเป็นพ่อแม่สูงกว่าพ่อแม่ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา

5. ผลการพัฒนาดัชนีคุณภาพความเป็นพ่อแม่มีค่าระหว่าง 0-1 ค่าดัชนีน้อยกว่า 0.40 เป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพความเป็นพ่อแม่ต่ำ ค่าดัชนีระหว่าง 0.40 – 0.82 เป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพความเป็นพ่อแม่ปานกลาง ส่วนค่าดัชนีมากกว่า 0.82 เป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพความเป็นพ่อแม่สูง ในภาพรวมพ่อแม่ในสังคมไทยมีค่าดัชนีคุณภาพความเป็นพ่อแม่เฉลี่ยเท่ากับ 0.70

`

การพัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพความเป็นพ่อแม่ : การวิเคราะห์คุณสมบัติทางจิตมิติโดยใช้เอสอีเอ็มกลุ่มพหุDEVELOPMENT OF PARENTING QUALITY INDICATORS: AN ANALYSIS OF PSYCHOMETRIC PROPERTIES USING MULTIGROUP SEM is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.