เภสัชศาสตร์ศึกษาเชิงบูรณาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ : นวัตกรรมสร้างสรรค์เภสัชกรพันธุ์ใหม่
Integrative Pharmacy Education for Health Promotion: Innovative Models for Producing New Blood Pharmacists

: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อุดมศึกษา
: ปี 2556
: 2242

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

ข้อมูลจากการวิจัยแผนการลงทุนด้านสุขภาพในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550-2554 ชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านปัญหาสุขภาพของประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเป็นนโยบายระดับชาติที่ต้องส่งเสริมให้มีการสร้างเสริมสุขภาพ เนื่องจากการลงทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพเป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและความคุ้มค่ามากที่สุด ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพสนับสนุนและส่งเสริมด้านเงินทุนให้ภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบ ต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือการปลูกฝังแนวคิดและพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพในนิสิตสายวิทยาศาสตร์สุขภาพผ่านสถาบันการศึกษา ดังนั้นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ม.มส.) จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวบูรณาการเข้ากับหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต บริบาลทางเภสัชกรรม และสอดแทรกในพันธกิจหลักของคณะ ได้แก่ การเรียนการสอน การวิจัย การให้บริการวิชาการ และกิจกรรมเสริมหลักสูตรของนิสิต เพื่อพัฒนาเภสัชศาสตร์ศึกษาให้สามารถสร้างเภสัชกรพันธุ์ใหม่ที่มีคุณลักษณะสอดคล้องกับนโยบายของประเทศ และตลาดแรงงานในปัจจุบัน และพัฒนาชุมชนเป้าหมายให้เข้มแข็งในด้านสุขภาพและการใช้ยา การศึกษานี้เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่มีการวางแผน ลงมือปฏิบัติ ตรวจสอบหรือประเมินผล แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการ (PDCA) ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 9 ปี (พ.ศ.2547-2556) การประเมินผลสัมฤทธิ์จะประเมินในนิสิตทุกคนและชุมชนเป้าหมาย (ชุมชนบ้านมะกอก) ก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการในทุกๆ ปีโดยใช้แบบประเมินความรู้ แนวคิดและพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่พัฒนาโดยทีมวิจัย นอกจากนี้มีการนำกระบวนการเรียนรู้ที่ได้มาจัดการความรู้เพื่อถอดบทเรียนของสิ่งที่ทำแล้ว สรุปเป็นโมเดลต้นแบบ ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษานี้ คือ 1) นิสิตเภสัชศาสตร์ ม.มส. มีแนวคิด พฤติกรรม เจตคติ และความมั่นใจต่อการนำแนวคิดสร้างเสริมสุขภาพไปประยุกต์ใช้จริงเพิ่มขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงการ โดยแนวคิด พฤติกรรม เจตคติ และความมั่นใจต่อการสร้างเสริมสุขภาพจะยังคงอยู่กับนิสิตจนกระทั่งจบการศึกษาไปเป็นเภสัชกร (พันธุ์ใหม่) ที่ดูแลผู้ป่วยบนพื้นฐานแนวคิดดังกล่าว อีกทั้งเภสัชกรเหล่านี้ยังเป็นต้นแบบในการทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในที่ทำงานให้กับเภสัชกรอื่นๆ ในสังคม 2) มีชุมชนที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมแนวคิดสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับคณะ และพร้อมจะจัดกิจกรรมสร้างเสริม 3) ได้โมเดลต้นแบบในการบูรณาการแนวคิดสร้างเสริมสุขภาพกับพันธกิจหลักของคณะ 3 โมเดล ได้แก่ มหาสารคามโมเดล (ด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน) มะกอกโมเดล (ด้านพัฒนาชุมชน) และโมเดลงานร้านยามหาวิทยาลัยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (ด้านบริการวิชาการ) โดยสรุปการปลูกฝังแนวคิด พฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านการมีระบบสนับสนุนที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพและแนวคิดให้กับให้นิสิตเภสัชศาสตร์ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเภสัชกรพันธุ์ใหม่ที่ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจที่ดี การดำเนินการและติดตามผลอย่างต่อเนื่องยังคงต้องดำเนินการต่อไปเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

`

เภสัชศาสตร์ศึกษาเชิงบูรณาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ : นวัตกรรมสร้างสรรค์เภสัชกรพันธุ์ใหม่Integrative Pharmacy Education for Health Promotion: Innovative Models for Producing New Blood Pharmacists is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.