การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีคอนสตรักติวิซึมร่วมกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ ทางชีววิทยาและความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
The Development of Instructional Model Based on Constructivism and Critical Thinking to Enhance Biology Concepts and Knowledge Construction Abilities of Tenth Grade Students

: ชื่อผู้วิจัย ดร.จิระ ดีช่วย
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2554
: 464

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีคอนสตรักติวิซึมร่วมกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ทางชีววิทยาและความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) ศึกษาประสิทธิผลเชิงประจักษ์ของรูปแบบการเรียนการสอนและความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยกำหนดรูปแบบการทดลองแบบสองกลุ่ม คือกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล จำนวน 86 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดมโนทัศน์ทางชีววิทยา แบบวัดความสามารถการสร้างองค์ความรู้ แบบสอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าทีและการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัย พบว่า

1. รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีคอนสตรักติวิซึมร่วมกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ทางชีววิทยาและความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีชื่อว่า อาร์พีซีเอสอี (RPCSE Model) จากการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญรูปแบบการเรียนการสอนมีความเหมาะสมและสอดคล้องกันทุกองค์ประกอบ รูปแบบการเรียนการสอน มี 8 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน หลักการตอบสนอง ระบบสังคม สิ่งสนับสนุน สาระความรู้และ

สิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ กระบวนการเรียนการสอนมี 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตรวจสอบความรู้เดิม (Reviewing Knowledge) ขั้นให้ความรู้และทักษะพื้นฐาน (Providing Fundamental Knowledge and Skill) ขั้นสร้างมโนทัศน์และฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Constructing Concepts and Critical Thinking) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing) ขั้นตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ (Enumeration)

2. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน อาร์พีซีเอสอี พบว่ามโนทัศน์ทางชีววิทยาของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักเรียนเห็นด้วยต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนการสอนในระดับมาก โดยเห็นด้วยมากที่สุด ด้านกิจกรรมการเรียนรู้ รองลงมาด้านบรรยากาศในการเรียนรู้และประโยชน์ที่ได้รับตามลำดับ

`

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีคอนสตรักติวิซึมร่วมกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ ทางชีววิทยาและความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 The Development of Instructional Model Based on Constructivism and Critical Thinking to Enhance Biology Concepts and Knowledge Construction Abilities of Tenth Grade Students is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.