การพัฒนาตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ของนักศึกษา วิทยาลัยพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข
Developing Indicators of Nursing Students’s Identities in Nursing Colleges, Ministry of Public Health

: ชื่อผู้วิจัย ดร.กิตติพร เนาว์สุวรรณ
: ตำแหน่ง -
: อุดมศึกษา
: ปี 2557
: 399

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมวิธี (Mixed Methods) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบย่อย ตัวบ่งชี้ ตรวจสอบความเที่ยงตรงตามสภาพจริง (Concurrent Validity) และกลวิธีการพัฒนาอัตลักษณ์ของนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 กำหนดองค์ประกอบและตัวบ่งชี้โดยศึกษาเอกสารและสัมภาษณ์เชิงลึก ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์องค์ประกอบย่อยและตัวบ่งชี้ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ อาจารย์ที่ปฏิบัติการสอนในวิทยาลัยพยาบาล สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก จำนวน 539 คน โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจด้วยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก ใช้วิธีหมุนแกนองค์ประกอบแบบออโธโกนอลด้วยวิธีแวริแมกซ์ ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบความเที่ยงตรงตามสภาพจริง กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ในวิทยาลัยพยาบาล สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก จำนวน 35 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มอย่างง่าย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบค่าที (t-test) ขั้นตอนที่ 4 ศึกษากลวิธีการพัฒนาอัตลักษณ์ ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหารวิทยาลัยพยาบาล จำนวน 9 คน เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis) และใช้สถิติทดสอบค่าที (t-test) พบว่า

1. องค์ประกอบย่อยและตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ของนักศึกษา วิทยาลัยพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ 1) องค์ประกอบหลักด้านจิตบริการของนักศึกษาพยาบาล มี 4 องค์ประกอบย่อย 28 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ ด้านคุณภาพการบริการแบบองค์รวม ด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้านคุณลักษณะเชิงวิชาชีพ และด้านการดูแลอย่างเอื้ออาทร 2) องค์ประกอบหลักด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ของนักศึกษาพยาบาล มี 2 องค์ประกอบย่อย 16 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ ด้านคุณลักษณะนักคิดเชิงวิเคราะห์ และด้านทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ 3) องค์ประกอบหลักด้านการมีส่วนร่วมของผู้รับบริการ มี 3 องค์ประกอบย่อย 31 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ ด้านส่งเสริมการดูแลตนเองและการเสริมสร้างพลังอำนาจ ด้านการยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล และด้านการพิทักษ์สิทธิผู้ป่วย และทุกตัวบ่งชี้มีความเที่ยงตรงตามสภาพจริง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001

2. กลวิธีการพัฒนาอัตลักษณ์ของนักศึกษาพยาบาล ได้แก่ กำหนดนโยบายภายใต้การมีส่วนร่วม จัดทำแผนปฏิบัติ (Road Map) พัฒนาสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ พัฒนาอาจารย์และครูพี่เลี้ยง จัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย เป็นแบบอย่างที่ดีจัดบรรยากาศองค์กรให้เป็นกัลยาณมิตร ส่งเสริมการสะท้อนคิด จัดกิจกรรมครอบครัวเสมือน สนับสนุนให้นักศึกษาทำกิจกรรมด้วยกระบวนการ PDCA และประเมินผลอย่างเป็นระบบ

`

การพัฒนาตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ของนักศึกษา วิทยาลัยพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขDeveloping Indicators of Nursing Students’s Identities in Nursing Colleges, Ministry of Public Health is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.