การจัดกระบวนการเรียนเพื่อการจัดการศึกษาโดยครอบครัว : กรณีศึกษาภาคใต้ของประเทศไทย
Learning Process Management for Home Schooling : A Case Study of Southern Thailand

: ชื่อผู้วิจัย ดร.รุจนี เอ้งฉ้วน
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2558
: 640

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยนี้เป็นวิจัยแบบผสมผสานวิธีพหุระยะ (Multi - Phase mixed method research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) บริบทของครอบครัว 2) การจัดกระบวนการเรียนรู้ 3) ระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ และ 4) เพื่อเสนอแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ของการจัดการศึกษาโดยครอบครัวจากกรณีศึกษาในภาคใต้ของประเทศไทย ในงานวิจัยนี้แบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 และ 2 เป็นการเก็บรวบรวมเชิงคุณภาพโดยผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ครอบครัวที่จัดการศึกษาโดยครอบครัวระดับประถมศึกษา จำนวน 4 ครอบครัว ในภาคใต้ ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง ส่วนผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ผู้ปกครอง ผู้เรียน และครูผู้สอน จำนวน 24 คน เก็บข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก และผู้วิจัยใช้เวลาร่วมกับครอบครัวกรณีศึกษาทั้ง 4 ครอบครัว เป็นเวลา 1 สัปดาห์ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ กับครอบครัวเป็นจำนวนอย่างน้อยครอบครัวละ 2 ครั้ง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ระยะที่ 3 เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณจากกลุ่มประชากรที่จัดการศึกษา โดยครอบครัวในภาคใต้ทั้งหมด 25 ครอบครัวจาก 10 จังหวัด ในปีการศึกษา 2556 โดยใช้แบบสอบถาม และระยะที่ 4 เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพในเรื่อง แนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดการศึกษาโดยครอบครัวจากกรณีศึกษาภาคใต้ โดยการประชุมกลุ่มย่อยมีผู้เข้าร่วมงานวิจัยทั้งหมด 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย ผู้วิจัยสร้างความน่าเชื่อถือในงานวิจัย โดยการสร้างความสัมพันธ์และความคุ้นเคย การใช้เวลาในพื้นที่ที่เพียงพอ และการเก็บข้อมูลยืนยันแบบสามเส้า

ผลการวิจัยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) ในบริบทของการจัดการศึกษาในครอบครัว ครอบครัวมีความพร้อมในการจัดการศึกษาเป็นอย่างดี สาเหตุสำคัญในการจัดการศึกษาโดยครอบครัว คือ แนวคิดพื้นฐานของพ่อแม่ที่ต้องการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีความสุขในการเรียนรู้ในชีวิตแต่ละครอบครัวมีปรัชญาและแนวคิดแตกต่างกัน แต่แนวคิดร่วมพื้นฐาน คือ แนวการศึกษาแบบองค์รวมและรูปแบบการจัดการศึกษานั้นเป็นไปตามวิถีชีวิตและเป้าหมายการศึกษาของครอบครัวเป็นสำคัญ

2) การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยครอบครัวเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับวิถีชีวิตของครอบครัว ครอบครัวปรับใช้ทั้งหลักสูตรในประเทศและต่างประเทศแบบบูรณาการ เป็นหลักสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน รวมถึงแนวคิดและวิถีชีวิตของครอบครัว ครอบครัวใช้การทัศนศึกษาเพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และเน้นหลักศาสนาเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามบริบทของผู้เรียนครอบครัวใช้ทั้งสื่อภายในครอบครัวและภายนอกครอบครัว และแหล่งเรียนรู้อย่างให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด และครอบครัวใช้การประเมินผลการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น เป็นการประเมินผลตามสภาพจริงที่ต้องสอดคล้องกับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของครอบครัวและเป็นการประเมินเพื่อใช้ในการพัฒนาผู้เรียน

3) ผลการวิจัยจากการศึกษาระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ครอบครัวที่จัดการศึกษา โดยครอบครัวในภาคใต้นั้น โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ในด้านที่อยู่ในระดับมาก มี 3 ด้าน คือ การใช้สื่อและแหล่งการเรียนรู้ วิธีการเรียนการสอน และการประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลการวิจัยเชิงคุณภาพที่ปรากฏข้างต้น

4) แนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ของการจัดการศึกษาโดยครอบครัวจากกรณีศึกษาภาคใต้นั้น พบว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรมีหลักการสำคัญที่เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจในเรื่อง การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยครอบครัวร่วมกันเสียก่อน ได้แก่ หลักการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ความเข้าใจเรื่อง กระบวนการเรียนรู้ของการจัดการศึกษาโดยครอบครัว และการตระหนักถึงการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ภายในครอบครัว ทุกฝ่ายควรมีการวิจัยและพัฒนาร่วมกันเกี่ยวกับหลักสูตร และควรจะจัดตั้งให้มีหน่วยงานอิสระในการดูแล ให้คำแนะนำและช่วยเหลือครอบครัวผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัว ส่วนวิธีการจัดการเรียนการสอน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละจังหวัดควรช่วยส่งเสริมสร้างช่องทางในการเรียนรู้เพิ่มเติมให้กับครอบครัว และมีการนัดหมายเพื่อพบปะเสวนากันอยู่เรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ระหว่างครอบครัวผู้จัดการศึกษาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ควรร่วมกันจัดทำ Mapping เรื่องสื่อและแหล่งเรียนรู้ ควรสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถใช้สื่อร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน โดยอาจสร้างข้อตกลงที่จะร่วมมือระหว่างสองฝ่าย (Memorandum of Understanding : MOU) และการประเมินผลการเรียนรู้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรทำความเข้าใจมุมมองของครอบครัว มองเห็นความแตกต่างระหว่างหลักคิดของการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือกควรช่วยเหลือและปรับการใช้คำศัพท์เฉพาะทางการศึกษาให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

`

การจัดกระบวนการเรียนเพื่อการจัดการศึกษาโดยครอบครัว : กรณีศึกษาภาคใต้ของประเทศไทยLearning Process Management for Home Schooling : A Case Study of Southern Thailand is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.