ปัจจัยจำแนกคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย
Factors Discriminating Educational Quality of Primary Schools under Office of the Basic Education Commission in Provinces on the East Coast of Thailand

: ชื่อผู้วิจัย ดร.เรวดี เชาวนาสัย
: ตำแหน่ง -
: ประถม - มัธยมศึกษา
: ปี 2559
: 416

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่สามารถจำแนกคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 2) เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยมีวิธีวิจัย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ เพื่อศึกษาปัจจัยที่จำแนกคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามความคิดเห็นจำนวน 2 ฉบับ ลักษณะของแบบสอบถามเป็นแบบประมาณค่า 5 ระดับ (Likert scale) กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่สถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. จำนวน 200 โรงเรียน จำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มคุณภาพการศึกษาสูง และกลุ่มคุณภาพการศึกษาต่ำ กลุ่มละ 100 โรงเรียน ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียนๆ ละ 1 คน และครูผู้สอนโรงเรียนละ 1 คน รวมผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดจำนวน 400 คน จำแนกเป็นกลุ่มคุณภาพการศึกษาสูงและกลุ่มคุณภาพการศึกษาต่ำ กลุ่มละ 200 คน ขั้นตอนที่ 2 การวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่สามารถจำแนกคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝังอ่าวไทยสูง 5 อันดับแรกด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก และยืนยันความเหมาะสมด้วยการสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ค่าร้อยละ ความถี่ ค่าเฉลี่ย (x̄) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์จำแนกประเภท

ผลการวิจัยพบว่า

1. ปัจจัยที่สามารถจำแนกคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย กลุ่มที่มีคุณภาพการศึกษาสูงและกลุ่มที่มีคุณภาพการศึกษาต่ำ ประกอบด้วย 6 ปัจจัย 18 ตัวแปร คือ ปัจจัยด้านโรงเรียน มี 4 ตัวแปร ได้แก่ แหล่งการเรียนรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ บรรยากาศโรงเรียน วัฒนธรรมโรงเรียน ปัจจัยด้านผู้บริหารโรงเรียน มี 4 ตัวแปร ได้แก่ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ภาวะผู้นำทางวิชาการ ภาวะผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และพฤติกรรมการบริหาร ปัจจัยด้านครูผู้สอน มี 3 ตัวแปร ได้แก่ ความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิจัยในชั้นเรียนและพฤติกรรมการสอน ปัจจัยด้านนักเรียน มี 2 ตัวแปร ได้แก่ ความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และพฤติกรรมการเรียน ปัจจัยด้านชุมชน มี 2 ตัวแปร ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการบริหาร และการสนับสนุนของภาคีเครือข่าย ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมภายนอก มี 3 ตัวแปร ได้แก่ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านสภาพทางเศรษฐกิจ ด้านการเมือง และกฎหมาย โดยปัจจัยที่สามารถจำแนกคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย สูงที่สุด 5 อันดับแรก คือปัจจัยด้านโรงเรียน ตัวแปรเทคโนโลยีสารสนเทศ รองลงมาปัจจัยด้านผู้บริหาร ตัวแปรภาวะผู้นำทางวิชาการ ปัจจัยด้านครูผู้สอน ตัวแปรพฤติกรรมการสอน และตัวแปรความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ อันดับที่ 5 ปัจจัยด้านผู้บริหาร ตัวแปรภาวะผู้นำทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามลำดับ

2. ผลการศึกษาแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ นโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ แผนงานโครงการของสถานศึกษาต้องสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด และบริบทของชุมชน มีความชัดเจนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้และ ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายได้แก่ ผู้บริหาร ครู และชุมชน ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและสารสนเทศ มีการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศเป็นฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาบนพื้นฐานที่เชื่อถือได้ พัฒนาครูและบุคลากรด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบด้วยการอบรม สัมมนา ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมตลอดเวลา ส่งเสริมให้ครูนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาสื่อการสอนที่เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศรวมทั้งการผลิตสื่อทำมือ การนำแหล่งเรียนรู้ วิทยากรในท้องถิ่นมาใช้ ตรวจสอบติดตามผล วางแผน และดำเนินงานอย่างเป็นระบบด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ เผยแพร่ผลงานโดยใช้สื่อเทคโนโลยี พร้อมสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานอย่างเพียงพอ การดำเนินงานวิชาการเป้าหมายต้องมีความชัดเจน และเป็นรูปธรรม ผู้บริหารใช้ประสบการณ์ ทำความเข้าใจให้บุคลากรเห็นความสำคัญ และพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน ที่สำคัญผู้บริหารต้องพัฒนาตนเองให้มีความรอบรู้ในงานวิชาการสามารถให้คำปรึกษาที่ถูกต้องแก่ครู พัฒนาครูให้เป็นผู้นำทางวิชาการ สามารถจูงใจให้ผู้อื่นปฏิบัติตามได้ ครูควรจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นกระบวนการมากกว่าการสอนความรู้ และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน

`

ปัจจัยจำแนกคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยFactors Discriminating Educational Quality of Primary Schools under Office of the Basic Education Commission in Provinces on the East Coast of Thailand is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.