การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุและผลกระทบต่อการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพด้านกระบวนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้
An Analysis of Causal Factors and Impacts on the Competency Development of Teachers in Southern Region with respect to Professional Standards Criteria involving the Process of Learning Management Development

: ชื่อผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูนสุข อุดม
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2556
: 3652

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้รวม 3 ด้าน คือ ด้านการสร้างและพัฒนาหลักสูตร ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และด้านการจัดการชั้นเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สังเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ 2) วิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ 3) วิเคราะห์ผลกระทบของปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีต่อการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ และ 4) วิเคราะห์แนวทางการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ การวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อ 1 ข้อ 3 และ ข้อ 4 กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรในสถานศึกษาสังกัดสพฐ.ในจังหวัดภาคใต้ ได้มาโดยการเจาะจง เก็บข้อมูลโดยการรวมรวมเอกสาร การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการเสวนา วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา การวิจัยตามวัตถุประสงค์ข้อ 2 กลุ่มตัวอย่างเป็นครูผู้สอนสังกัด สพฐ.ในจังหวัดภาคใต้ จำนวน 390 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นและการปฏิบัติของครูผู้สอนเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ มีลักษณะมาตราประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าอำนาจจำแนก .3112 - .7719 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ .8319 - .9649 วิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่มีผลต่อสมรรถนะของครูในภาคใต้ ด้วยโปรแกรมลิสเรล 8.72

ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ ด้านการสร้างและพัฒนาหลักสูตร ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และด้านการจัดการชั้นเรียน ได้แก่ ประสบการณ์ในการสอน ภาระงานของครู การพัฒนาตนเองของครู ความพร้อมด้านวิชาการของสถานศึกษา บรรยากาศวิชาการของสถานศึกษา และความพร้อมของนักเรียน 2)ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ พบว่า 2.1) ประสบการณ์ในการสอน และการพัฒนาตนเองของครู มีอิทธิพลทางตรง แต่ภาระงานของครูมีอิทธิพลทางอ้อมโดยผ่านการพัฒนาตนเองของครู ต่อสมรรถนะด้านการสร้างและพัฒนาหลักสูตร ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และด้านการจัดการชั้นเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 2.2) ความพร้อมด้านวิชาการของสถานศึกษา บรรยากาศทางวิชาการของสถานศึกษา และความพร้อมของนักเรียน มีอิทธิพลทางตรงและทางอ้อม อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3) ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ มากที่สุด คือ การพัฒนาตนเองของครู รองลงไปคือ ประสบการณ์ในการสอน และภาระงานของครู ตามลำดับ โดยครูผู้สอนควรจะพัฒนาตนเองเรื่อง การจัดกระบวนการเรียนรู้ การใช้/การพัฒนาสื่อ การวัดและประเมินผล และควรได้รับการพัฒนาเรื่อง การเป็นผู้นำทางวิชาการ การปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ และการประชาสัมพันธ์ผลงานครูและผู้เรียน และ 4) แนวทางการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ พบว่าหน่วยงานทั้งระดับ สพฐ. ระดับเขตพื้นที่การศึกษา (สพป./สพม.) และระดับสถานศึกษา ควรมีรูปแบบหรือวิธีการในการพัฒนาสมรรถนะครูโดยกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ การนิเทศ การประเมิน และการนำผลการประเมินไปใช้อย่างจริงจัง เป็นระบบ ชัดเจน และเป็นรูปธรรม (คำนึงถึงการมีชีวิตรอดจากเหตุการณ์การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย) ซึ่งจะส่งผลการพัฒนา คือ ครูที่เพียบพร้อมด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพครู มีจิตวิญญาณความเป็นครู และผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการอย่างแท้จริง

`

การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุและผลกระทบต่อการพัฒนาสมรรถนะของครูในภาคใต้ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพด้านกระบวนการพัฒนาการจัดการเรียนรู้An Analysis of Causal Factors and Impacts on the Competency Development of Teachers in Southern Region with respect to Professional Standards Criteria involving the Process of Learning Management Development is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.