การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสู่สังคมแห่งคุณธรรม ภูมิปัญญา และการเรียนรู้
A development of learning management model for developing quality of learner leading to moral, wisdom, and learning society
: ชื่อผู้วิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.วารีรัตน์ แก้วอุไร
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2554
: 12849
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสู่สังคมแห่งคุณธรรม ภูมิปัญญา และการเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสู่สังคมแห่งคุณธรรม ภูมิปัญญา และการเรียนรู้ และเพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสู่สังคมแห่งคุณธรรม ภูมิปัญญา และการเรียนรู้ ดำเนินการวิจัยโดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา โดยมีขั้นตอนการดำเนินการวิจัยเป็น 2 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นการสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการจัดการเรียนรู้ และขั้นการทดลองใช้และศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น แบบพหุกรณีด้วยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการ
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นใช้แนวคิดสำคัญของการจัดการศึกษาตามแนวพระบรมราโชวาท ที่เน้นว่าการให้การศึกษาจะต้องช่วยให้บุคคลค้นพบวิธีการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม ไปสู่ความเจริญและความสุขตามอัตภาพและการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธิปัญญานิยมตามแนวทฤษฎีการสร้างความรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมเชิงพุทธิปัญญา ทฤษฏีประมวลสารสนเทศ และใช้แนวคิดของรูปแบบการสอนและหลักการนำเสนอรูปแบบการสอนของจอยส์และเวลล์ องค์ประกอบของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยความเป็นมาและความสำคัญของรูปแบบฯ แนวคิด/ทฤษฎีที่ใช้เป็นฐานในการพัฒนาหลักการของรูปแบบฯ หลักการของรูปแบบฯ วัตถุประสงค์ของรูปแบบฯ เนื้อหา/สาระการเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบฯ : ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักปฏิสัมพันธ์ ระบบสนับสนุน ผลที่เกิดกับผู้เรียน และการนำรูปแบบฯไปใช้ ผลการตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งนักวิชาการ ศึกษานิเทศก์ และครูจำนวน 9 คน พบว่ารูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีคุณภาพดีและสามารถนำไปใช้ได้เหมาะสมกับการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้แบบเน้นผู้เรียนโดยองค์รวมทั้งด้านคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ผลการทดลองใช้พบว่ารูปแบบที่พัฒนาขึ้นสามารถพัฒนาผู้เรียนทั้งด้าน คุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้
2. ผลการทดลองใช้และศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นแบบพหุกรณีพบว่า
2.1 กรณีการใช้กับระดับอุดมศึกษา กับนักศึกษาครู พบว่า การเรียนโดยใช้หลักการของรูปแบบที่พัฒนาขึ้นช่วยให้นักศึกษาร้อยละ 80 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ร้อยละ 80 ขึ้นไป สามารถเขียนแผนผังความคิด สามารถนำเสนอเนื้อหาได้อย่างน่าสนใจและเข้าใจง่าย อธิบายเนื้อหาได้ละเอียดต่อเนื่องชัดเจน และโดยภาพรวมมีพฤติกรรมความรับผิดชอบในระดับปานกลาง กรณีการใช้กับนักศึกษาพยาบาล พบว่า ผู้สอนและนักศึกษาประเมินว่า นักศึกษาแสดงพฤติกรรมจริยธรรมความเอื้ออาทรด้านการรู้จักบุคคลในครอบครัวในฐานะบุคคลคนหนึ่งในระดับมาก และนักศึกษาสามารถเขียนรายงานสุขภาพครอบครัวในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลได้ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสิ่งแวดล้อม
2.2 กรณีการใช้กับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ พบว่า ด้านความรู้ นักเรียนส่วนใหญ่ สามารถบันทึกองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งสำคัญสำหรับใช้สร้างผลงานได้ครบถ้วน ตามวัตถุประสงค์ ด้านการปฏิบัติ พบว่า นักเรียนทุกคนสามารถปฏิบัติการสร้างชิ้นงานตามเทคนิคการแต่งภาพที่เรียนได้ทุกเรื่อง มีผลสำเร็จของชิ้นงานอยู่ในเกณฑ์คุณภาพ “ดีมาก” เป็นส่วนใหญ่ ด้านคุณธรรมความมีวินัย พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่แสดงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการมีวินัย ด้านความพร้อมในการเรียน ด้านการควบคุมตนเอง และด้านการพัฒนาตนเอง อยู่ในระดับ “ดีเยี่ยม” การประเมินพฤติกรรมความมีวินัยระดับการปฏิบัติ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีการปฏิบัติพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงการมีวินัยในการศึกษาเล่าเรียน อยู่ในระดับ “3” คือปฏิบัติเป็นประจำสม่ำเสมอ กรณีการใช้กับโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา พบว่า นักเรียนจำนวน ร้อยละ 80 มีความรู้และทักษะการสื่อสารการพูด ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ของคะแนนเต็ม รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรมด้านความกตัญญู ความมีน้ำใจและจิตอนุรักษ์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และกรณีการใช้กับโรงเรียนระดับประถมศึกษา พบว่า นักเรียนสามารถสรุปผังความคิดในเรื่องที่เรียนได้และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง ศาสนาของเราที่รู้จัก หลังเรียนร้อยละ 86.30 มีพฤติกรรมความมีวินัยการทำงานและส่งงานหลังเรียนในระดับดี รู้จักการมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือครูและเพื่อนเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีทักษะในการนำเสนอผลงานได้คล่องแคล่วกว่าเดิมและมีความสุขสนุกสนานในการเรียน
2.3 ผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นโดยผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงด้านการศึกษาจำนวน 3 คน พบว่า รูปแบบมีความเหมาะสมดีมาก แต่มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มรายละเอียดและปรับรายละเอียดบางประการของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เหมาะสมมากขึ้น
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสู่สังคมแห่งคุณธรรม ภูมิปัญญา และการเรียนรู้A development of learning management model for developing quality of learner leading to moral, wisdom, and learning society is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.