การพัฒนาศักยภาพนักศึกษาพยาบาลเพื่อการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ของนักเรียนมัธยมศึกษา
Development of Nursing Students’ Ability to Reduce Smoking Problems in Junior High School Students
: ชื่อผู้วิจัย ดร.ปัณณธร ชัชวรัตน์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อุดมศึกษา
: ปี 2554
: 2532
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือเพื่อประเมินสภาพการณ์การสูบบุหรี่ของวัยรุ่น และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาพยาบาลในการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ในวัยรุ่น การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 1) การประเมินสถานการณ์ ปัญหาการสูบบุหรี่ของเยาวชน อ.เมือง จ.พะเยา จำนวน 85 คน 2) การสร้างภาคีการทำงานร่วมกันกับโรงเรียน 3) การเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาพยาบาลด้วยวิชาการควบคุมยาสูบในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตของเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย 4) การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ของนักเรียน โดยนักศึกษาพยาบาลให้ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่กับสุขภาพ 5) การประเมินผลกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยนักศึกษาพยาบาล 35 คน นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 400 คน
ผลการศึกษาพบว่า เยาวชนผู้ให้ข้อมูลเหล่านี้สูบบุหรี่ร้อยละ 31.77 โดยโรงเรียนที่เป็นภาคีเห็นว่าการสูบบุหรี่ของนักเรียนเป็นปัญหาที่สำคัญของโรงเรียน และต้องการที่จะมีภาคีการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ของนักเรียน ผลการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาพยาบาลปรากฏว่า นักศึกษาพยาบาลมีความรู้เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ต่อสุขภาพหลังการอบรมสูงกว่าก่อนการอบรม (p-value < 0.01) และมีทัศนคติที่ดีต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ ส่วนผลการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่พบว่านักศึกษาสอนนักเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจและสนุกกับการเรียนรู้ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งนักศึกษาพยาบาลในบทบาทของผู้ให้ความรู้และนักเรียนในบทบาทผู้รับความรู้ โดยพบว่าก่อนกระบวนการเรียนรู้ นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ต่อสุขภาพ 11.09±2.899 และหลังกระบวนการเรียนรู้ คะแนนเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับบุหรี่และสุขภาพ 18.16±2.726 (p-value < 0.01) และมีความพึงพอใจในการเข้ารับการอบรมจากพี่นักศึกษาพยาบาล จะเห็นได้ว่ากลุ่มนักศึกษามีศักยภาพในการรณรงค์และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการสูบบุหรี่ของนักเรียนที่มักจะเลียนแบบตามเพื่อนและมักจะเล่าให้เพื่อนฟังมากกว่าครูหรือผู้ปกครอง ดังนั้นหากได้มีการพัฒนาศักยภาพและมีกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมนักศึกษาพยาบาล ก็จะสามารถเป็นแกนนำในการรณรงค์แก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ในเยาวชนซึ่งมีช่วงวัยที่ไม่ห่างกันมากนัก และควรมีการสร้างภาคีทำงานร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องที่พร้อมจะร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสังคม
การพัฒนาศักยภาพนักศึกษาพยาบาลเพื่อการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ของนักเรียนมัธยมศึกษาDevelopment of Nursing Students’ Ability to Reduce Smoking Problems in Junior High School Students is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.