รายงานการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย สังเคราะห์ภาพรวม

: ชื่อผู้วิจัย อาจารย์วิภาวรรณ สุนทรจามร
: ตำแหน่ง -
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2559
: 26846

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

บทสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับภาพรวมของการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และการศึกษานอกระบบฉบับนี้ จัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปภาพรวมของสภาพปัญหาปัจจุบันเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยในทุกระดับการศึกษา และเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนากระบวนการของการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในทุกระดับชั้น ให้มีความเหมาะสมกับบริบทการศึกษาของประเทศไทย

ปัจจุบันจำนวนสถานศึกษาของประเทศไทยในระดับต่างๆ ที่ดำเนินหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีน ดังนี้ ระดับประถมศึกษาจำนวน 769 แห่ง มัธยมศึกษาจำนวน 707 แห่งอาชีวศึกษาจำนวน 173 แห่ง อุดมศึกษาจำนวน 82 แห่ง และการศึกษานอกระบบจำนวน 152 แห่ง โดยสรุปและสังเคราะห์

ภาพรวมของสภาพปัญหาปัจจุบันของการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยในทุกระดับการศึกษาจากงานวิจัยจำนวน 5 เล่ม ได้เน้นการศึกษาจากปัจจัยหลักสำคัญ 6 ประการ คือปัจจัยด้านการบริหารและการจัดการ หลักสูตร สื่อการสอน ผู้สอน ผู้เรียน และความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น

จากการสังเคราะห์งานวิจัยการเรียนการสอนภาษาจีนในทุกระดับการศึกษา ผู้วิจัยในแต่ละระดับการศึกษาได้นำเสนอภาพรวมของปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาระบบการเรียนการสอนภาษาจีนของประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้ง 6 ด้าน ไว้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการของไทยจัดตั้งหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนภาษาจีนในทุกระดับชั้น จัดทำแผนและยุทธศาสตร์ แผนแม่แบบการเรียนการสอนภาษาจีนของประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีการจัดทำหลักสูตรภาษาจีนแกนกลาง ที่จะสามารถนำไปใช้ร่วมกันทั้งประเทศได้ เพื่อแก้ปัญหาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่มีความต่อเนื่องและขาดความเชื่อมโยงของแต่ละระดับ เสนอให้ภาครัฐจัดหางบประมาณสนับสนุนการสร้างห้องปฏิบัติการทางภาษาในสถานศึกษาที่เปิดการสอนภาษาจีน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ฝึกทักษะทั้งการฟังและการพูดได้อย่างเต็มที่ เห็นควรให้มีการเร่งรัดผลิตบุคลากรการสอนภาษาจีนชาวไทยที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องควรเน้นให้ครูผู้สอนมีบทบาทในการสร้างเสริมให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาจีน โดยการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆ ที่มีความหลากหลายและน่าสนใจ นอกจากนี้ ยังเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งหน่วยงานที่จะเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับแหล่งทุนการศึกษาทางด้านภาษาจีน และโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการในแวดวงการเรียนการสอนภาษาจีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

`

รายงานการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย สังเคราะห์ภาพรวม is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.