รายงานการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศ ระดับอาชีวศึกษา

: ชื่อผู้วิจัย อาจารย์วิภาวรรณ สุนทรจามร
: ตำแหน่ง -
: อาชีวศึกษา
: ปี 2559
: 6822

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของการพัฒนาระบบการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยการบริหารจัดการ หลักสูตร สื่อการเรียนการสอน ผู้สอน ผู้เรียน และความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น รวมถึงปัญหาความเชื่อมโยงกับการศึกษาระดับอื่น เพื่อเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาในประเทศไทย ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูลและใช้การสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก ละเอียด และใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด(ใช้ข้อมูลปีการศึกษา 2557 เป็นหลัก) กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยคือสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนที่สอนภาษาจีนในประเทศไทย มีสถานศึกษาตอบแบบสอบถามจำนวน 85 แห่ง ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้มาคำนวณหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากนั้นวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล สุดท้ายเรียบเรียงออกมาเป็นผลการวิจัย

ผลการวิจัย พบว่า ในด้านการบริหารจัดการ สถานศึกษาให้ความสำคัญกับการวางแผนมากที่สุดแต่กลับนำผลประเมินมาปรับปรุงในปีต่อไปน้อยลง แต่จากข้อมูลเรื่องปัญหาด้านการบริหารจัดการการเรียนการสอนภาษาจีนจะเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วสถานศึกษายังขาดระบบในการบริหารจัดการที่ดี ในด้านหลักสูตร สถานศึกษาเปิดรายวิชาภาษาจีนตามหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำหนดทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีสถานศึกษาหลายแห่งเปิดรายวิชาภาษาจีนในระดับที่สูงขึ้นด้วยปัญหาหลักที่พบ คือความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับการศึกษาระดับอื่น ในด้านสื่อการเรียนการสอน ปัจจุบันสถานศึกษาเลือกใช้หนังสือเรียนภาษาจีนอย่างหลากหลาย มีทั้งหนังสือของประเทศจีน และหนังสือที่เรียบเรียงโดยอาจารย์ชาวไทยเอง ทั้งนี้ เนื่องมาจาก สอศ. ไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่ากำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งใช้หนังสือเรียนภาษาจีนเล่มใดโดยเฉพาะ นอกจากนั้น สถานศึกษายังขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ ในด้านผู้สอน สถาบันอาชีวศึกษาส่วนใหญ่ยังพึ่งพาครูอาสาสมัครจีนส่วนครูสัญชาติไทยอยู่ในลำดับที่สอง ที่เหลือคือครูสัญชาติจีนที่สถานศึกษาจัดหาเอง ครู/อาจารย์พิเศษและครูสัญชาติอื่น ในบรรดาครูสอนภาษาจีนทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาด้านภาษาจีน มีครูสอนภาษาจีนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาด้านภาษาจีน ในด้านผู้เรียน พบว่า ปัญหาด้านผู้เรียนที่สำคัญที่สุดคือผู้เรียนขาดสภาพแวดล้อมทางภาษาจีน ดังนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนการสอนภาษาจีนในสถานศึกษาให้มากขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่เน้นการฝึกทักษะและปฏิบัติจริงสามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมนี้ได้ ในด้านความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น สถานศึกษายังขาดความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น และกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยยังขาดความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาของประเทศจีน ในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนที่เป็นรูปธรรม

`

รายงานการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศ ระดับอาชีวศึกษา is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.