ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) เพื่อเตรียมการพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัย รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ของโลกศตวรรษที่ 21: ผลการศึกษาและแนวทางการส่งเสริม
Future Skills—Life-long Development Preparation for Thais in the 21st Century Disruption: Framework and Promotion

: ชื่อผู้วิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: การศึกษาตลอดชีวิต (ไม่แบ่งระดับ)
: ปี 2565
: 141

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้ ใช้การวิจัยเชิงผสานวิธี (Mixed Method) ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 2 ข้อ คือ (1) ศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) เพื่อเตรียมการพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ของโลกศตวรรษที่ 21 และ (2) จัดทำแนวทางการส่งเสริมทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) ที่เหมาะสมกับบริบทของคนไทย เพื่อเตรียมการพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ของโลกศตวรรษที่ 21

การดำเนินการประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Method) จากบทความทางวิชาการ งานวิจัย และเอกสารสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ 3 ประเด็น คือ (1) ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (2) บริบทการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21 และ (3) การพัฒนาคุณภาพคนไทยในแต่ละช่วงวัยพร้อมกรณีศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนา ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อผลผลิตที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 จากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความสามารถ และมีบทบาทในการเตรียมความพร้อมคุณภาพคนไทยแต่ละช่วงวัยในบริบทต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยโครงสร้างหลักในขั้นตอนที่ 2 ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) ข้อคิดเห็นที่มีต่อกรอบทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกศตวรรษที่ 21 ของคนไทยทุกช่วงวัย (2) การจัดอันดับความสำคัญทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคตของคนไทยในแต่ละช่วงวัย และ (3) ข้อเสนอแนะในแนวทางการส่งเสริมทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคตของคนไทยแต่ละช่วงวัย จากนั้น เป็นขั้นตอนที่ 3 คือการกลั่นกรองผลการวิจัยที่ได้จากข้อ (1) และ (2) โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน

ผลการวิจัยครั้งนี้ สรุปได้ว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ของโลกศตวรรษที่ 21 มี 5 สถานการณ์ คือ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร (Population Disruption) ความหลากหลายของคนต่างช่วงวัยและยุคสมัย (Generation Disruption) การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี (Technology Disruption) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอาชีพและลักษณะการทำงาน (Career Disruption) และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและกระบวนการเรียนรู้ (Learning Disruption) และ 5 อันดับทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคตของคนไทย 4 ช่วงวัย คือ ปฐมวัย วัยเรียน/วัยรุ่น วัยแรงงาน และวัยผู้สูงอายุ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) ที่เหมาะสมกับบริบทของคนไทย 4 ด้าน คือ ด้านนโยบายการศึกษา ด้านสภาพแวดล้อม ด้านเทคโนโลยี และด้านกระบวนการเรียนรู้

`

ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future Skill) เพื่อเตรียมการพัฒนาคุณภาพคนไทยทุกช่วงวัย รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ของโลกศตวรรษที่ 21: ผลการศึกษาและแนวทางการส่งเสริมFuture Skills—Life-long Development Preparation for Thais in the 21st Century Disruption: Framework and Promotion is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.