ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยกับการประสบอันตรายของนักศึกษาในวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จังหวัดอ่างทอง
Relationship between occupational safety and health management and accident of student in colleges under vocation

: ชื่อผู้วิจัย ธนิฏฐา ทองนาค, 2524-
: ตำแหน่ง Position
: อาชีวศึกษา
: ปี 2554
: 79

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยกับการประสบอันตรายของนักศึกษาในวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านอาชีพและต้องมีการฝึกปฏิบัติงานจริงกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ โดยเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามและแบบสำรวจเพื่อศึกษาความสอดคล้องกับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน มอก. 18001 และแบบสอบถามเกี่ยวกับการประสบอันตรายของนักศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลจากค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาความสัมพันธ์โดยใช้ค่า Chi-square

ผลการศึกษาพบว่ามีนักศึกษาในวิทยาลัยประสบอันตรายจากการฝึกปฏิบัติงานร้อยละ 38.93 โดยมือและนิ้วมือเป็นอวัยวะที่ได้รับอันตรายสูงสุดถึงร้อยละ 36.30 ซึ่งลักษณะการประสบอันตรายส่วนใหญ่เป็นบาดแผลถลอก ร้อยละ 36.64 จากการศึกษาความสัมพันธ์กับการประสบอันตรายของนักศึกษา พบว่า ปัจจัยด้านสถานที่ สาขาวิชา การกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐานและสภาพการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน มีความสัมพันธ์กับการประสบอันตรายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ซึ่งโรงฝึกงานเป็นสถานที่ที่พบการประสบอันตรายสูงสุดร้อยละ 64.0 และนักศึกษาที่ประสบอันตรายจากการฝึกปฏิบัติงานส่วนใหญ่อยู่ในสาขาวิชาช่างอุตสาหกรรมร้อยละ 26.40 และในสาขาวิชาคหกรรมและบริหารธุรกิจร้อยละ 12.53 โดยสาเหตุของการเกิดอุยัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐาน คือ หยอกล้อกันเล่นในขณะปฏิบัติงานร้อยละ 30.14 และจากสภาพการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน คือ เครื่องมือเครื่องจักรหรืออุปกรณ์บกพร่องร้อยละ 21.23

จากการศึกษาความสอดคล้องของการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยซึ่งเป็นการประเมินก่อนที่จะมีการนำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน มอก. 18001 มาใช้ในวิทยาลัยมี 6 องค์ประกอบ คือ (1) การทบทวนสถานะเบื้องต้น (2) นโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (3)การวางแผน (4) การนำไปใช้และการปฏิบัติ (5) การตรวจสอบและการแก้ไข และ (6) การทบทวนการจัดการ พบว่าความสอดคล้องกับการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน มอก. 18001 ที่อยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน มอก. 18001 กับการประสบอันตรายของนักศึกษาไม่พบความสัมพันธ์ทางสถิติ (p>0.05) จากจำนวนของการประสบอันตรายโดยคิดเป็นร้อยละพบว่าภาพรวมของการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่อยู่ในระดับต่ำมากจะมีนักศึกษาประสบอันตรายร้อยละ 46.1 และในระดับต่ำ ร้อยละ 37.8 นักศึกษาที่อยู่ในสาขาวิชาช่างอุตสาหกรรมที่มีการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในระดับต่ำมาก จะมีนักศึกษาประสบอันตรายร้อยละ 62.2 และในระดับต่ำร้อยละ 46.1 และสาขาวิชาคหกรรมและบริหารธุรกิจที่มีการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในระดับต่ำมาก จะมีนักศึกษาประสบอันตรายร้อยละ 36.9 และในระดับต่ำร้อยละ 28.2 ซึ่งอาจสรุปได้ว่าการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ดีจะมีการประสบอันตรายน้อย

สำหรับการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของพื้นที่ปฏิบัติงานซึ่งมี 6 ด้าน คือ (1) การประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงาน (2) วัสดุ (3) อุปกรณ์ (4) การควบคุมอันตราย (5) ระบบภาวะฉุกเฉิน และ (6) สภาพการณ์ของสถานที่ปฏิบัติงานทั่วๆ ไปภายนอกอาคาร เฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของพื้นที่ปฏิบัติงานในภาพรวมมีความสัมพันธ์กับการประสบอันตรายของนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยความปลอดภัยของพื้นที่ปฏิบัติงานที่อยู่ในระดับต่ำจะมีนักศึกษาประสบอันตรายร้อยละ 43.6 ซึ่งมากกว่าในระดับปานกลางที่มีนักศึกษาประสบอันตรายร้อยละ 35 ซึ่งอาจสรุปได้ว่าการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของพื้นที่ปฏิบัติงานที่ดีจะมีการประสบอันตรายน้อย

ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเสนอแนะ และพัฒนาแนวทางการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อลดปัญหาการประสบอันตรายในวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในจังหวัดอ่างทองและในจังหวัดอื่นต่อไป

`

ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยกับการประสบอันตรายของนักศึกษาในวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จังหวัดอ่างทองRelationship between occupational safety and health management and accident of student in colleges under vocation is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.