การพัฒนารูปแบบเลิร์นนิ่งอ็อบเจกต์เพื่อเสริมสร้างการสร้างความรู้และทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
: ชื่อผู้วิจัย ดร.ศยามน อินสะอาด
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: อุดมศึกษา
: ปี 2553
: 3095
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนารูปแบบเลิร์นนิ่งอ็อบเจกต์เพื่อเสริมสร้างการสร้างความรู้และทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นการวิจัยและพัฒนา มีขั้นตอนดำเนินการวิจัย 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน และ สอบถามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ระยะที่ 2 สร้างต้นแบบ ระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้รูปแบบกับนักศึกษาปริญญาบัณฑิตชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จำนวน 163 คน ในรายวิชาพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย เป็นเวลา 6 สัปดาห์ และระยะที่ 4 นำเสนอรูปแบบ เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ สื่อเลิร์นนิ่ง
อ็อบเจกต์ แบบสอบถามความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ แบบวัดการสร้างความรู้ แบบวัดทักษะการคิดวิจารณญาณ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบบันทึกการสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ และ t-test Dependent
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบเลิร์นนิ่งอ็อบเจกต์ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1) คุณลักษณะเลิร์นนิ่งอ็อบเจกต์ 2) กระบวนการสร้างความรู้ 3) สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แบบเปิด 4) การคิดแบบมีวิจารณญาณ และมีเงื่อนไขการใช้รูปแบบ 3 เงื่อนไข คือ 1) บทบาทผู้สอน 2) บทบาทผู้เรียน 3) ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
2. รูปแบบเลิร์นนิ่งอ็อบเจกต์ ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ 1) การนำเสนอปัญหา 2) ศึกษาปัญหา 3) หาแนวทางตอบปัญหา 4) การสร้างความรู้ 5) การนำไปใช้ 6) การประเมินผล
3. กลุ่มตัวอย่างที่เรียนตามรูปแบบเลิร์นนิ่งอ็อบเจกต์ มีคะแนนทักษะการคิดแบบวิจารณญาณสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 และพบว่าระดับการสร้างความรู้ขั้นสูง (High-Level elaboration) คิดเป็นร้อยละ 28.57 ระดับการสร้างความรู้ขั้นต่ำ (Low-Level elaboration) คิดเป็นร้อยละ 49.86
การพัฒนารูปแบบเลิร์นนิ่งอ็อบเจกต์เพื่อเสริมสร้างการสร้างความรู้และทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษาปริญญาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.