การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้มรณศึกษาเพื่อสร้างเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา
A Development of Learning Management Model on Death Education for Humanized Enhancement Based Upon Contemplative Education

: ชื่อผู้วิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2553
: 2074

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้มรณศึกษาตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาของผู้เรียนในการตระหนักรู้ต่อตนเองและผู้อื่นในด้านความดี ความจริงและความรู้เพื่อสร้างเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตลอดจนศึกษาความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ มรณศึกษาตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา ผู้ให้ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้มี 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่งนิสิตที่เรียนมรณศึกษา ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2552 กลุ่มที่สองนิสิตที่เรียนมรณศึกษา ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปีการศึกษา 2553 กลุ่มที่สามนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เรียนมรณศึกษา และกลุ่มที่สี่นิสิตที่ไม่ได้เรียนมรณศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ของรัฐ กลุ่มละ 30 คน รวมทั้งสิ้น 120 คน เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้มรณศึกษา แบบประเมินความรู้เนื้อหา แบบประเมินความรู้ด้านความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แบบประเมินการจัดกิจกรรม และแบบประเมินความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งนี้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาและจุดประสงค์จากผู้ทรงคุณวุฒิ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนาซึ่งผู้วิจัยได้พัฒนาจากการศึกษา “การจัดการเรียนรู้มรณศึกษาเพื่อสร้างเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา” ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ANOVA ANCOVA MANCOVA และสังเคราะห์ ตีความและประมวลผลข้อมูลที่ได้ในรูปของความเรียงประกอบ

ผลการวิจัย สามารถสรุปผลได้ใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้มรณศึกษาเพื่อสร้างเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา ทำให้ได้รูปแบบการเรียนรู้ “รูปแบบความรัก” (Love Model) ซึ่งประกอบด้วย ขั้นเรียนรู้ (Learning) ขั้นเปิดใจ (Openness) ขั้นเห็นคุณค่า (Value) และขั้นเห็นคุณงามความดี (Excellence)

2. ผลการใช้รูปแบบความรัก (Love Model)ในการจัดการเรียนรู้มรณศึกษาตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา พบว่า

2.1 นิสิตกลุ่มที่เรียนมรณศึกษาปีการศึกษา 2552 และปีการศึกษา 2553 มีคะแนนเฉลี่ยความรู้เนื้อหาและความรู้ด้านความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์หลังการเรียน แตกต่างกับกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนมรณศึกษาที่เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นของรัฐอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่นิสิตที่เรียนมรณศึกษาปีการศึกษา 2552 และปีการศึกษา 2553 มีคะแนนเฉลี่ยไม่แตกต่างกัน รวมทั้งนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เรียนและนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นของรัฐก็มีคะแนนเฉลี่ยที่ไม่แตกต่างเช่นเดียวกัน

2.2 นิสิตกลุ่มที่เรียนมรณศึกษาปีการศึกษา 2553 มีคะแนนเฉลี่ยด้านความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์สูงกว่านิสิตกลุ่มที่เรียนในปีการศึกษา 2552 ทั้งนี้กลุ่มผู้เรียนมรณศึกษาได้ระบุว่าเรียนรู้ความดีในด้านความรักความเมตตา ความเข้าใจตนเองและผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่น มองชีวิตมีค่า และรู้จักแผ่เมตตา เรียนรู้ความจริงว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งต้องยอมรับ และได้รับความรู้เกี่ยวกับความตายในมุมมองทางด้านต่างๆ พิธีกรรมทางศาสนา กฎหมาย การจัดการอารมณ์เกี่ยวกับความตาย การฝึกปฏิบัติการสอนมรณศึกษา และการรู้จักใช้ชีวิตที่มีคุณค่ามีความหมายโดยไม่ประมาท

3. ความพึงพอใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มรณศึกษา พบว่า นิสิตกลุ่มที่เรียนมรณศึกษาทั้งในปีการศึกษา 2552 และปีการศึกษา 2553 ได้ระบุถึงความพึงพอใจที่ได้รับความรู้และประสบการณ์ จากการอภิปราย การบรรยายของอาจารย์และวิทยากร การแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับความรัก การรู้จักและเข้าใจตนเองมากขึ้นจากการสะท้อนความรู้สึก การเล่าประสบการณ์ การระบายความรู้สึก การเขียนความรู้สึกเกี่ยวกับความตาย การจัดสุนทรียสนทนา กิจกรรมการฝึกสมาธิ การสวดมนต์ การแผ่เมตตา การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีศึกษา การศึกษาพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย การเขียนคำไว้อาลัย การฝึกปฏิบัติการสอนมรณศึกษา สำหรับในปีการศึกษา 2553 มีการบันทึกเทประหว่างการสอนมรณศึกษาและมีการใช้เอกสารคำสอนซึ่งพบว่า ผู้ให้ข้อมูลเห็นด้วยกับการบันทึกเทประหว่างการสอนมรณศึกษาและเห็นว่าเอกสารคำสอนเป็นเอกสารที่ดีด้วย

`

การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้มรณศึกษาเพื่อสร้างเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาA Development of Learning Management Model on Death Education for Humanized Enhancement Based Upon Contemplative Education is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.