แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษา

: ชื่อผู้วิจัย ผศ.ดร. ธิดารัตน์ คูหาพงศ์
: ตำแหน่ง -
: อุดมศึกษา
: ปี 2556
: 167

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยเรื่อง แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษา และเพื่อเปรียบเทียบแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษา จำแนกตามเพศ คณะ วิทยาเขต แผนการเรียน ระดับการศึกษาของผู้ปกครอง อาชีพผู้ปกครองและรายได้ผู้ปกครอง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยใช้ค่าที (t-test) ค่าเอฟ (f-test) ด้วยวิธีเชฟเฟ่ และการวิเคราะห์ถดถอย (Simple regression analysis)

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ สำเร็จแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ก่อนเข้าศึกษาในสถาบันการพลศึกษา ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจบการศึกษาระดับประถมและประกอบอาชีพเกษตรกร มีรายได้เฉลี่ย 11,906 บาท ต่อเดือน นักศึกษาส่วนใหญ่ให้คะแนนอยู่ในระดับมากกล่าวคือ ได้คะแนนเฉลี่ยโดยรวม 4.10 จากคะแนนเต็ม 5 และรายการที่นักศึกษาได้ให้คะแนนสูงสุด ได้แก่ 4.18 ซึ่งได้แก่ ความสัมพันธ์กับเพื่อน ซึ่งนักศึกษาเห็นว่าแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียนนั้นต้องใช้ต้องมีความอดทน ความพยายาม และต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองจึงจะส่งผลต่อแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนักศึกษา การเปรียบเทียบแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษากับคุณสมบัติของกลุ่มประชากรที่สุ่มมาศึกษา จำแนกตามเพศ คณะ วิทยาเขต แผนการเรียน ระดับการศึกษาของผู้ปกครอง อาชีพผู้ปกครองและรายได้ผู้ปกครองพบว่า ในระดับวิทยาเขตที่แตกต่างกันมีผลต่อแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนคุณสมบัติของกลุ่มประชากรที่สุ่มมาศึกษาด้านอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาพบว่าไม่แตกต่างกัน

`

แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาสถาบันการพลศึกษา is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.