ภาวะผู้นำเชิงพหุวัฒนธรรมของผู้อำนวยการโรงเรียนของรัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
Multicultural Leadership of Public School Principals in the Three Southern Border Provinces

: ชื่อผู้วิจัย ผศ.ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง
: ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
: ครูและบุคลากรทางการศึกษา
: ปี 2555
: 3223

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

งานวิจัยเชิงคุณภาพแบบกรณีศึกษาดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามุมมองของผู้อำนวยการโรงเรียนของรัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่มีต่อพหุวัฒนธรรมนิยม และพหุวัฒนธรรมศึกษา รวมถึงปัญหาที่ยากลำบากเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานศึกษาตามแนวทางการจัดการศึกษาเชิงพหุวัฒนธรรม และศึกษาภาวะผู้นำเชิงพหุวัฒนธรรม ของผู้อำนวยการโรงเรียนของรัฐในการบริหารจัดการสถานศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 30 คนที่ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมจำนวน 30 คน ผู้ให้ข้อมูลสำคัญได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง เอกสารที่เกี่ยวข้องและตัวผู้วิจัยเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการสร้างทฤษฎีจากข้อมูล และใช้เทคนิคการวิเคราะห์แบบเปรียบเทียบความเหมือนและแตกต่างของข้อมูล ผลการวิจัยพบว่ามุมมองของผู้อำนวยการโรงเรียนของรัฐเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับ การรับรู้และพื้นฐานต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสามมุมมองหลักๆ คือ1) แบบแคบ 2) แบบกว้าง และ 3) แบบไม่แน่ใจ กล่าวคือ 1) แบบแคบซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่มองว่าพหุวัฒนธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมและศาสนา 2) แบบกว้างซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยมองว่าพหุวัฒนธรรมไม่ได้จำกัดแค่เรื่องศาสนาและวัฒนธรรม แต่ยังรวมถึงมิติต่างๆ ทางสังคมที่แตกต่างกัน 3) แบบไม่แน่ใจซึ่งเป็นส่วนน้อยมองว่าตนเองไม่มีความแน่ใจและไม่มั่นใจว่าพหุวัฒนธรรมคืออะไร ส่วนพหุวัฒนธรรมศึกษาในมุมมองของผู้บริหารสถานศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นคือการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับ ความต้องการของบุคคลในชุมชน วิถีชีวิต โอกาส เป้าหมาย กระบวนการ และ บริบท ปัญหาที่ยากลำบากต่อการจัดการศึกษาตามแนวทางพหุวัฒนธรรม การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรม การเผชิญสถานการณ์ความไม่สงบ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การสร้างความน่าเชื่อถือต่อสังคม ปัญหาของครูและบุคลากรทางการศึกษา และ การขาดการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสีย ภาวะผู้นำเชิงพหุวัฒนธรรมของผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐได้แก่ การสร้างความตระหนักและความอ่อนไหวต่อพหุวัฒนธรรมศึกษา การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำงานกับภาคีทุกภาคส่วน และ การพัฒนาวิชาชีพของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา

`

ภาวะผู้นำเชิงพหุวัฒนธรรมของผู้อำนวยการโรงเรียนของรัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้Multicultural Leadership of Public School Principals in the Three Southern Border Provinces is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.