รายงานผลการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยใช้แหล่งการเรียนรู้ห้องสมุด

: ชื่อผู้วิจัย นาย นพดล ธรรมใจอุด
: ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ
: หลักสูตรและการเรียนรู้
: ปี 2564
: 52

logo onec

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยใช้แหล่งการเรียนรู้ห้องสมุดโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จังหวัดพะเยา ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ ระยะเวลาในการดำเนินการประเมิน คือ ปีการศึกษา 2564 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ จำนวน 468 คน ได้แก่ คณะกรรมการ-สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 4 คน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ/กิจกรรม จำนวน 12 คน ครูประจำชั้น จำนวน 61 คน ผู้ปกครอง จำนวน 100 คน ตัวแทนชุมชน จำนวน 6 คน และนักเรียน จำนวน 272 คน ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24- จังหวัดพะเยา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างมาจากตารางของ Krejcie and Morgan และใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified- Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถามความคิดเห็น จำนวน 5 ฉบับ 2) แบบบันทึกข้อมูล จำนวน 5 ชุด และ3) แบบประเมินมาตรฐานห้องสมุดโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากนั้นนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และแปลผลตามเกฑณ์การประเมินต่อไป

ผลการประเมินพบว่าโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยใช้แหล่งการเรียนรู้ห้องสมุดโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จังหวัดพะเยา พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านได้ดังต่อไปนี้ 1) ด้านบริบท โดยภาพรวมมีความสอดคล้องและเหมาะสมอยู่ในระดับมาก โครงการมีความเหมาะสมกับ สภาพปัจจุบันปัญหาของโรงเรียน สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของโรงเรียนและตอบสนองความต้องการของทุกคน มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างนิสัย รักการอ่านของนักเรียนอย่างยั่งยืน มีการกำหนดปฏิทินปฏิบัติงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านที่ชัดเจน 2) ด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมมีความพร้อมและเหมาะสมเพียงพอ อยู่ในระดับมาก ห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดหอนอนมีหนังสือพิมพ์ วารสาร และสิ่งพิมพ์ที่เพียงพอต่อความต้องการอ่านของนักเรียน แยกเป็นเอกเทศ เงียบ บรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้เหมาะสำหรับอ่านหนังสือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความสำคัญกับโครงการร่วมวางแผนการดำเนินงานและการให้การสนับสนุนกิจกรรม มีงบประมาณเหมาะสมกับลักษณะของกิจกรรมและจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม 3) ด้านกระบวนการ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ห้องสมุดมีกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้วยกิจกรรมกระตุกสนใจ กระตุ้นให้อ่าน กระจายให้รู้ สู่ความยั่งยืน มีความหลากหลายน่าสนใจ ตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนได้เป็นอย่างดี จัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยเน้นให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากร และนักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และผู้รับผิดชอบมีการรายงานผลการดําเนินงานโครงการอย่างเหมาะสม 4) ด้านผลผลิตโดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด นักเรียนนำความรู้จากการอ่านไปใช้ประโยชน์ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษาระดับดีขึ้นไป สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ความสามารถด้านการอ่านสูงกว่าระดับประเทศ ความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ รายวิชาภาษาไทยสูงกว่าระดับประเทศ ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน สาระการอ่าน รายวิชาภาษาไทยสูงกว่าระดับประเทศ ความสามารถด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์ และการเขียนของผู้เรียนระดับดีขึ้นไป สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และห้องสมุดโรงเรียนมีมาตรฐานอยู่ในระดับดีเยี่ยม 5) ด้านผลกระทบของโครงการ โดยศึกษาจากการสะท้อนผลที่เกิดจากความพึงพอใจของนักเรียนและผู้ปกครอง ปรากฏว่านักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน คือมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก



คำสำคัญ : การประเมินโครงการ, ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน, แหล่งการเรียนรู้ห้องสมุด

`

รายงานผลการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยใช้แหล่งการเรียนรู้ห้องสมุด is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 License.